ก.พลังงานตามติดราคาพลังงานตลาดโลกใกล้ชิดหลังน้ำมันดิบยังพุ่งต่อเนื่อง เพื่อใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลทั้งดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรและ LPG ที่ล่าสุด กบง.เคาะคงราคาถึงสิ้น มี.ค. แย้มอาจต้องกู้โปะกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาทหลังตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงสิ้นเดือนมีนาคม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังคงติดตาม (มอนิเตอร์) ราคาพลังงานตลาดโลกใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ล่าสุดราคาได้ปรับขึ้นต่อเนื่องเพื่อดูแลระดับราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้น มี.ค. 65 ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน ขณะเดียวกันล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ก็ได้ขยายกรอบเวลาการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยคงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จากสิ้นสุด ม.ค.นี้ไปสิ้นสุดเดือน มี.ค.เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนเพิ่มขึ้นราว 1,700 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดเดือนมีนาคมจะสิ้นสุดฤดูหนาวของแถบยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งปกติแล้วราคาพลังงานโลกจะลดลงและจะทำให้ไทยอาจจะลดการอุดหนุนราคาพลังงานลงได้ อย่างไรก็ตาม ฐานะกองทุนน้ำมันฯ เชื้อเพลิงแม้จะติดลบแล้วกว่า 7,000 ล้านบาทแต่เป็นการติดลบทางบัญชียังคงมีกระแสเงินสดในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันรัฐได้มีแผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ ที่วางกรอบไว้ทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาทแต่ระยะแรกได้กำหนดแผนกู้ 2 หมื่นล้านบาทก่อนนั้น หากจำเป็นจะต้องขยายกรอบกู้เงินเพิ่มอีกจาก 2 หมื่นล้านบาทก็อาจต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน ก.พลังงานก็จะออกแคมเปญรณรงค์ประหยัดพลังงานมาควบคู่ด้วย
“เดิมกระทรวงพลังงานวางแผนเสนอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจำนวน 2,570 ล้านบาท มาร่วมดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เพราะเป้าหมายหลักคือลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท้วงติงว่าไม่ถูกวัตถุประสงค์ เพราะการช่วยเหลือจะต้องส่งเงินตรงให้แก่ประชาชน หรือใช้ก๊าซฯ เฉพาะครัวเรือนจริงๆ ไม่ใช่มีการนำไปใช้สำหรับรถยนต์หรืออื่นๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังวางระบบตรวจสอบป้องกันเรื่องนี้ โดยหากไม่สามารถใช้เงินส่วนนี้ได้ ก็คงจะต้องใช้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กำลังเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ กู้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้เงินมาเติมสภาพคล่องในเดือนมีนาคมนี้” นายกุลิศกล่าว
ทั้งนี้ กบง.ได้มีมติตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 318 บาท/ถัง เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 มาเป็นเวลาประมาณเกือบ 2 ปี ใช้เงินตรึงราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดใช้เงินอุดหนุนราคาไปแล้ว 23,564 ล้านบาท ประกอบกับกองทุนน้ำมันฯ ต้องดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ ณ วันที่ 9 ม.ค. 65 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะติดลบแล้ว 7,327 ล้านบาท
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business