องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำไม่ควรใช้น้ำเลือดที่มีสารภูมิคุ้มกันรักษาโรคโควิด-19 หลังหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีในปัจจุบัน ไม่พบว่าอัตราการรอดชีวิตหรือตัวชี้วัดสำคัญอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น ฝั่งผู้เชี่ยวชาญไทยบอกแนวทางรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์
ย้อนไปเมื่อ 2 พ.ค. ปีนี้ สภากาชาดไทย ได้ประกาศเชิญชวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายแล้วให้เข้าร่วมบริจาคพลาสมา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดย รศ. พญ. ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ให้ข้อมูลไว้ว่า พลาสมาที่รวบรวมได้ถูกใช้หมดแล้วในผู้ป่วยกว่า 240 ราย จึงทำให้การประกาศเปิดรับเพิ่มเติมเฉพาะในเพศชาย ด้วยข้อมูลการรับบริจาคที่ผ่านมา เพศชายจะมีคุณสมบัติในการบริจาคพลาสมาได้มากกว่าเพศหญิง
บีบีซีไทยเข้าใจว่า การประกาศดังกล่าวนับเป็นครั้งสุดท้าย ที่เว็ปไซด์สภากาชาดไทยได้เชิญชวนให้ผู้ป่วยที่หายแล้วรวมบริจาคพลาสมา เพื่อการรักษาโควิด-19 และไม่เคยมีการเปิดรับบริจาคเพิ่มเติมอีกเลย
สำหรับข้อมูลของโครงการวิจัยการใช้พลาสมาเพื่อเสริมการรักษาโรคนี้ ในช่วงเดือน ก.พ. ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายแล้วร่วมลงทะเบียนกว่า 400 ราย แต่มีเพียง 152 รายที่สามารถบริจาคพลาสมาได้เป็นจำนวน 446 ถุง ก่อนที่จะนำไปผลิตเป็น COVID-19 Convalescent Plasma หรือ CCP ที่มีภูมิต้านทานสูงได้จำนวน 383 ถุง
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยถึงแนวทางของไทย ที่มีการใช้พลาสมาร่วมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนหน้านี้นั้น ว่าไทยคงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูล ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้พลาสมาในการรักษาลดลงตามลำดับอยู่แล้ว
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก อธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าแนวทางการใช้พลาสมาที่ผ่านมาสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ โดยการศึกษาของนานาชาติในช่วงแรกก็มีทั้งที่เห็นผลและไม่เห็นผล แต่เมื่อการศึกษาของประเทศอังกฤษที่มีการเก็บของมูลในกลุ่มตัวมากจำนวนมากพอสมควร หลายประเทศจึงยึดถือผลตามนั้น
ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของการรักษาด้วยพลาสมา นพ.ยง ระบุว่า การให้พลาสมากับผู้ป่วยอย่างรวดเร็วก็มีความเสี่ยง ซึ่งต่างกับการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ ซึ่งเข้าถึงผู้ป่วยได้รวดเร็วกว่า แต่ราคาก็แพงตามไปด้วย
“การรักษาคนไข้มันเป็นสิทธิของแพทย์ด้วย ไม่ใช่จะบอกว่าทุกอย่างดำขาวเดินตามเส้นนั้นหมด คนไข้แต่ละคนไม่เหมือนขึ้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ผู้ดูแลรักษา”
องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำเมื่อ 7 ธ.ค. ว่าไม่ควรใช้น้ำเลือดที่มีสารภูมิคุ้มกันรักษาโรคโควิด-19 ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีในปัจจุบัน ไม่พบว่าอัตราการรอดชีวิตหรือตัวชี้วัดสำคัญอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น
ในคำแนะนำดังกล่าว ระบุว่า คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา หรือน้ำเลือดที่ถ่ายมาจากผู้ป่วยที่หายดีแล้วและเชื่อว่ามีสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีอยู่ ไม่เหมาะสมและไม่แนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติผู้ร่างคำแนะนำของ WHO ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวลงในวารสารการแพทย์ BMJ แล้ว
แม้การศึกษาจะมีแนวโน้มที่ดีในตอนต้น แต่หลักฐานเท่าที่พบในขณะนี้บ่งชี้ว่า คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา ไม่ได้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต หรือช่วยลดอัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจลง นอกจากนี้ยังมีราคาแพง และกระบวนการให้น้ำเลือดแก่คนไข้ยังใช้เวลานานเป็นพิเศษด้วย
ด้วยเหตุนี้ WHO จึงออกแถลงการณ์ “ไม่แนะนำอย่างยิ่ง” ต่อการใช้คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
ทั้งยังระบุว่า “ไม่แนะนำ” ให้ใช้พลาสมาชนิดดังกล่าวกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรืออาการอยู่ในขั้นวิกฤต ยกเว้นเพียงแต่กรณีใช้ในการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุมเท่านั้น
สำหรับคำแนะนำนี้มาจากหลักฐานที่รวบรวมได้จากการทดลอง 16 ครั้ง โดยมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มทดลอง 16,236 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยที่มีอาการในขั้นวิกฤต
ถ้อยแถลงการณ์ชิ้นนี้อธิบายไว้ว่า การศึกษาทดลองครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำคำแนะนำแบบ living guideline หรือคำแนะนำที่มาจากกระบวนการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเอื้อให้สามารถปรับปรุงคำแนะนำใหม่ได้รวดเร็วทันท่วงที ซึ่ง WHO พัฒนากระบวนการนี้ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนด้านระเบียบวิธีวิจัยจากมูลนิธิระบบนิเวศหลักฐาน MAGIC เพื่อให้สามารถออกคำแนะนำที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการบริหารจัดการโรคโควิด-19 และช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเกี่ยวกับคนไข้ได้ดีขึ้น
สำหรับระบบการจัดทำคำแนะนำที่ทันเหตุการณ์หรือ living guidance จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสาขาการวิจัยที่มีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นโรคโควิด-19 เพราะเหล่านักวิจัยจะได้รับข้อมูลหลักฐานโดยสรุป ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้ว โดยจะมีการอัปเดตข้อมูลเหล่านี้อย่างรวดเร็วในทันทีที่มีข้อมูลข่าวสารใหม่เข้ามา
ในการจัดทำคำแนะนำนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายประเภทร่วมกัน และประเมินชั่งน้ำหนักทั้งผลดีผลเสีย คุณค่าและทางเลือก รวมทั้งโอกาสความเป็นไปได้
แถลงการณ์ “ไม่แนะนำอย่างยิ่ง” ต่อการใช้คอนวาเลสเซนต์ พลาสมาในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนั้น เป็นการสะท้อนมุมมองของคณะกรรมการที่ว่า การใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตต่ำ รวมทั้งรักษาผู้มีความเสี่ยงต่ำต่อผลทางคลินิกที่สำคัญอื่น ๆ นั้น ไม่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ดีแม้คอนวาเลสเซนต์ พลาสมาจะไม่เหมาะสมต่อการใช้เป็นประจำในผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการหนักเพียงใดก็ตาม แต่คณะกรรมการยังคงยอมรับว่า มีความไม่แน่นอนอยู่ในระดับหนึ่งสำหรับกรณีของผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤติ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้มากพอที่จะอนุญาตให้มีการทดลองใช้พลาสมาดังกล่าวในการทดลอง RCT ต่อไปได้
คณะกรรมการยังชี้ให้เห็นอุปสรรคในทางปฏิบัติหลายประการของคอนวาเลสเซนต์ พลาสมา เช่น จำเป็นจะต้องค้นหาและทดสอบคนที่สามารถจะเป็นผู้บริจาคจำนวนมาก รวมทั้งมีความยากลำบากในการรวบรวม เก็บรักษา และถ่ายน้ำเลือดที่ได้รับบริจาคมาให้ผู้ป่วย ซึ่งยิ่งจำกัดความเป็นไปได้ในการใช้รักษาโรคได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพ
หลังจากพิจารณาข้อมูลข่าวสารทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงเป็นที่มาให้คณะกรรมการมีความเห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วนเป็นอย่างดีเกือบทุกคน จะไม่เลือกรับคอนวาเลสเซนต์ พลาสมา อย่างแน่นอน
โดยคำแนะนำที่ออกมาในวันนี้ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคำแนะนำของ WHO ครั้งก่อน ๆ ซึ่งรวมถึงกรณียายับยั้งตัวรับอินเตอร์ลิวคิน-6 และการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์ทั่วทั้งร่างกาย สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการขั้นวิกฤต
นอกจากนี้ยังรวมถึงคำแนะนำแบบมีเงื่อนไขในการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี เพื่อลบล้างฤทธิ์ไวรัสในผู้ป่วยบางราย ทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็กติน และยารักษาไข้มาลาเรียไฮดร็อกซีคลอโรควินกับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณี ไม่ว่าจะมีอาการ